ผู้ที่ประกอบกิจการส่วนตัว ไม่ว่าจะกิจการไหน เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง ก็เลี่ยงไม่ได้แน่นอนสำหรับการขยายกิจการ และปัจจัยสำคัญนั้น ก็แน่นอนว่า เป็นเงินทุน ซึ่งถ้าอยากจะก้าวข้ามขีดจำกัดของการขยายกิจการ สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ ดูเหมือนว่าจะเป็นตัวช่วยอันดับแรกๆ ที่ดูเหมือนกว่าจะขาดกันไม่ได้เลย แต่หลายๆคนนั้น เมื่อฟังว่าเป็นสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์นั้น ก็พากันขยาดกันเสียแล้ว เพราะอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องที่ขอกันได้ยาก ต้องใช้เอกสารมากมาย และวุ่นวายมาก เพราะสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์นั้น ทางธนาคารมักจะพิจารณากันแบบละเอียดกว่าสินเชื่อแบบอื่น รวมไปทั้งให้ความสำคัญกับข้อมูลในการออกสินเชื่อ ทั้งเครดิตของผู้กู้ ข้อมูลทางการเงินต้องได้รับการยืนยันกันหลายชั้นว่าเป๊ะ อีกทั้งความสามารถในการบริการงานกิจการ การทำการตลาด ทุกอย่างจะต้องเป็นแบบแผนที่ชัดเจน โดยทั่วไปแล้วหลักการพิจารณาของแต่ละสถาบันการเงินจะไม่แตกต่างกันมากนักสำหรับสินเชื่อประเภทนี้
ข้อมูลโดยทั่วไปเพื่อประกอบการออกสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์
- วัตถุประสงค์การขอสินเชื่อที่ชัดเจน ต้องเขียนออกมาเลยว่า จะต้องใช้เพื่ออะไร ขยายร้าน ซื้อสินค้าเพิ่ม ทำการขยายสาขา ขยายตลอด ซึ่งจะต้องอยู่ในกรอบของธุรกิจของตัวเอง ซึ่งทำให้ทางผู้ให้บริการสินเชื่อมองภาพรวมของธุรกิจและเงินที่จะลงทุนไปได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
- ข้อมูลประวัติสินเชื่อของสถาบันการเงินที่กำลังยื่นขอ และที่อื่นๆ พูดง่ายๆก็คือ เราไปเป็นหนี้ที่อื่นที่ไหนบ้าง และมากน้อยแค่ไหน นอกจากที่ๆเรากำลังยื่นขอ ถ้าหากมีน้อย หรือไม่มีเลย โอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อแบบง่ายๆครั้งเดียวผ่านฉลุย ก็จะมีโอกาสเยอะกว่า
- แผนการดำเนินกิจการ เช่น การบริหารงานไปในทิศทางไหน กลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เป็นกลุ่มไหนบ้าง ศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง พอไปไหวไหม ตลาดที่เรากำลังจะโฟกัสนั้นจะไปได้ไกลไหมหรือใกล้จะถึงทางตันแล้ว รวมไปถึงโอกาสที่จะขยายกิจการไปในอนาคต ซึ่งยิ่งเตรียมตัวมาดีเท่าไหร่ โอกาสที่จะกู้ผ่าน และได้รับวงเงินที่สูงขึ้น ก็จะมีมากยิ่งขึ้นไปอีก
- มีคนค้ำประกัน หรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน ในการกู้เงินสินเชื่อประเภทนี้จำเป็นจะต้องใช้หลักทรัพย์หรือบุคคลที่เชื่อถือได้ มีหลักแหล่งที่อยู่ที่ทำงานอย่างแน่นอน ยิ่งมีความน่าเชื่อถือมากก็จะมีโอกาสมากที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อ และถ้าหลักทรัพย์ของเรานั้น มีมูลค่าไม่เพียงพอก็จะต้องไปหามาอีกเพิ่มเติม
แต่งเนื้อแต่งตัวธุรกิจของตัวเองอย่างไรบ้างถึงจะยื่นกู้ให้ผ่านแบบสบาย ๆ
สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ หรือสินเชื่อเพื่อธุรกิจนั้น เป็นสินเชื่อที่มีลักษณะเฉพาะทาง เหมือนกับการกู้เพื่อต่อเติมบ้าน การกู้เพื่อซื้อรถ และถ้ากู้ถูกประเภทก็ผ่านแบบไม่ต้องลุ้นอะไรกันมาก สำหรับผู้ประกอบกิจการหรือคนที่อยากจะลงทุนเพิ่มในธุรกิจของตัวเองทั้งหลาย การขอสินเชื่อกับธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้น บางครั้งบางคราวก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงกันไม่ได้ เพราะถ้าหากจะเก็บหอมรอมริบเพื่อหาเงินก้อนมาลงทุนกันเอง ถึงตอนนั้นคู่แข่งก็ล้ำหน้าไปถึงไหน ก็ไม่มีทางรู้เลย ดังนั้น ในเมื่อการกู้ยังเป็นสิ่งจำเป็น ก็ต้องมาเตรียมตัวดีๆกันสักหน่อย
- ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ให้ดี โดยทั่วไปนั้น เราจะต้องมีกำไรมากกว่าภาระผ่อนจำนวนอย่างน้อย 1.2-1.5 เท่า เช่น ต้องผ่อนหนี้ 10,000 บาท ต่อเดือน กำไรจากธุรกิจของเรา สุทธิจะต้องไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่น หรือเยอะกว่านั้นยิ่งดี จึงจะมีโอกาสกู้ผ่าน ประเด็นที่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะหน้าใหม่ มักจะเข้าใจผิดกันก็คือ ทางแบงค์หรือผู้ให้บริการทางการเงินจะดูแค่เรามีกำไรเท่าไหร่ แต่จริงๆ แล้วนั้น ผู้ให้บริการจะดูรายการในสมุดบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ รวมไปถึงรายการเข้าออกแบบกระแสรายวัน เพื่อดูว่า มีเงินเข้าสม่ำเสมอหรือไม่ ถ้ามีเงินเข้ามากกว่าเงินออกพอสมควรก็จะบอกใบ้เป็นนัยๆ ว่า ธุรกิจของเราไปได้ดีแค่ไหน
- นโยบายการให้สินเชื่อ จะไม่เหมือนกัน ซึ่งถึงแม้กิจการของเราจะไปได้สบายๆ ในสายตาของเราเอง แต่ทางด้านผู้ให้บริการสินเชื่ออาจจะไม่ได้มองอย่างนั้นเสมอไป แต่ละแห่งจะกำหนดนโยบายเป็นการภายในว่าจะปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจใดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆตามภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มความเป็นไปของธุรกิจในแต่ละช่วงทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก แม้เป็นกิจการที่ดีและมีแนวโน้มที่สดใส แต่ถ้าเกิดแบงค์ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจนั้นไปจนหมดแล้ว สินเชื่อที่ขอไปก็อาจจะถูกปฏิเสธได้ ขอแนะนำว่าถ้าอยากจะกู้จริงๆ ก็ต้องลองไปขอสินเชื่อกับผู้ให้บริการอย่างน้อย 2 แห่ง
สุดท้ายนี้ ความคาดหวังในการกู้เงินสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ในแต่ละครั้งนั้น มักจะได้รับการคาดหวังที่ค่อนข้างสูงจากผู้ให้กู้ว่าทางธนาคารจะอนุมัติวงเงินสินเชื่อตามที่ขอเอาไว้ และได้รับการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ต้องจำกันไว้ให้ดีเลยว่า ภาระผูกพันกับธนาคารจะเกิดขึ้นทันที หากไม่ได้ผ่อนชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ ก็อาจจะเสียค่าปรับพร้อมดอกเบี้ยเพิ่มเติม ในอัตราที่ตกลงกันไว้ หรืออาจจะสูงขึ้น และบางครั้งก็อาจจะหนักถึงขั้นยึดหลักประกันกันเลยก็ได้ ดังนั้นจึงควรที่จะรักษาวินัยการเงินให้ดีที่สุด ชำระหนี้ให้ตรงเวลา ครบถ้วนไม่ตกหล่น ปัญหาไม่เกิดขึ้นแน่นอน ทั้งยังช่วยให้มีโอกาสในการขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้นในอนาคตอีกต่างหาก