การปรับโครงสร้างหนี้ คืออะไร มีวิธีการอย่างไร

565 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การปรับโครงสร้างหนี้ คืออะไร

“หนี้” คำที่คุ้นหู และเป็นปัญหาเรื้อรังมานานสำหรับใครหลาย ๆ คน ที่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อซื้อและใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน แต่บางคนก็อาจจะใช้เกินตัวไปซะหน่อย ด้วยความเคยตัว จนทำให้เป็นหนี้ และไม่สามารถที่จ่ายหนี้ได้ตรง ขาดการส่งหนี้บ้าง จนทำให้โดนทวงถามหนี้ จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นโดนยึดทรัพย์สิน ทางแก้ที่ทำได้ก็คือ ปรับโครงสร้างหนี้  วันนี้เราจะมาทำความรู้จักเรื่องนี้กันเพิ่มขึ้น 

ความหมาย ของ “การปรับโครงสร้างหนี้”

   การปรับโครงสร้างหนี้ คือ การปรับเปลี่ยนเงื่อนไข และรูปแบบการชำระหนี้ใหม่ให้เหมาะกับความสามารถในการชำระหนี้ เราสามารถทำได้ให้ไหวตามกำลัง และไม่ทำให้เกิดหนี้เสีย ซึ่งหากปล่อยไว้อาจส่งผลทางคดีความ เช่น ถูกฟ้องร้องหรือยึดทรัพย์ นั่นเอง แต่ก่อนที่เราจะเริ่มดำเนินการขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ควรพิจารณาจากสถานการณ์ทางการเงินของตัวเองก่อน ว่ารายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่อเดือนของเราเป็นเท่าไหร่ รายรับที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างไร และสามารถจ่ายหนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ในระยะเวลาเท่าใด เนื่องจากระยะเวลาในการผ่อนชำระ จะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน จากนั้นค่อยศึกษาความคุ้มค่าของเงื่อนไขในการปรับโครงสร้างหนี้อย่างละเอียด และพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมต่อไป

วิธีปรับโครงสร้างหนี้

  1. การขยายเวลาชำระหนี้

       วิธีปรับโครงสร้างหนี้ยอดนิยมที่ช่วยให้ภาระการผ่อนต่อเดือนน้อยลง เป็นการยืดระยะเวลาผ่อนหนี้ที่เหลือออกไป และเริ่มผ่อนในอัตราเดิมไม่ไหว ระยะเวลาที่เหลือก็สามารถยืดระยะเวลาผ่อนชำระออกไปได้ ทั้งนี้ สถาบันการเงินจะพิจารณาอายุของผู้กู้ประกอบด้วย โดยค่าเฉลี่ยที่ผ่านมาจะอยู่ที่ประมาณ 8 ปี
  2. การพักชำระเงินต้น

        ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าค่างวดที่ผ่อนชำระนั้นจะประกอบด้วยเงินต้นและดอกเบี้ย การพักชำระเงินต้น นั้นไม่ได้เกี่ยวกันกับดอกเบี้ยที่เรายังต้องจ่ายค่างวดเฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเท่านั้น ข้อควรรู้ของการพักชำระเงินต้น คือเงินต้นจะไม่ลดลงในช่วงที่พักชำระ ทำให้ต้องจ่ายหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นในช่วงท้ายสัญญา ที่อาจทำให้ต้องผ่อนนานขึ้น จ่ายดอกเบี้ยรวมเยอะขึ้น ทั้งนี้ยังมีทางเลือกในการโปะหนี้ หรือการนำเงินก้อนมาจ่ายเพื่อลดหนี้ก่อนครบกำหนดตามสัญญา วิธีนี้ก็จะช่วยให้ภาระดอกเบี้ยลดลง และปลดหนี้ได้ไวขึ้น
  3. การลดอัตราดอกเบี้ย

       เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง ค่างวดในแต่ละเดือนก็จะแบ่งไปลดเงินต้นได้มากขึ้น ส่งผลให้ภาระดอกเบี้ยโดยรวมลดลงได้อีก วิธีการนี้ต้องขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินจะพิจารณา โดยมีหลายปัจจัย เช่น ประวัติการผ่อนชำระของลูกหนี้ หลักประกัน และประเภทของสินเชื่อ เป็นต้น
  4. การผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

       สถาบันการเงินจะคิดดอกเบี้ยปรับบนฐานของงวดที่ผิดนัดชำระเท่านั้น ยกตัวอย่างการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระของสินเชื่อบ้าน* จากธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีลูกหนี้ขอสินเชื่อ 500,000 บาท ดอกเบี้ย 8% ต่อปี มีค่างวด 4,200 บาท ประกอบด้วย เงินต้น 1000 บาท และดอกเบี้ย 3200 บาท หากผิดนัดชำระหนี้จะคิดดอกเบี้ยสูงสุด 20% ต่อปี เมื่อลูกหนี้ผ่อนชำระไปแล้ว 20 งวดและผิดนัดชำระในงวดที่ 21 จะคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวดส่วนที่เป็นเงินต้นจำนวน 1000 บาทเท่านั้นนี่ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจไม่น้อย
  5. การเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน

       สำหรับรูปแบบนี้จะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับเจ้าของกิจการ เป็นทางเลือกเพื่อพยุงธุรกิจให้สามารถฟื้นตัวได้ โดยให้ผู้กู้ประมาณการรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า คล้ายกับการพักการชำระหนี้นั่นเอง แต่ต้องมีเหตุผลในการขอเพิ่มวงเงินให้สถาบันการเงินพิจารณาวงเงินที่จะสามารถกู้ได้
  6. การปิดหนี้ด้วยเงินก้อน

       เมื่อเราสามารถหาเงินก้อนใหญ่ได้จำนวนหนึ่ง แม้จะไม่มากเท่ากับยอดหนี้ที่มีอยู่ แต่ก็สามารถเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอส่วนลดสำหรับปิดหนี้ได้ โดยสถาบันการเงินอาจพิจารณากำหนดระยะเวลาชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในเวลาอันสั้น หรือเพียง 1-2 งวดเท่านั้น ทั้งนี้ หากเรามีหลักประกันมูลค่าสูงกว่ายอดหนี้ที่มีอยู่ อาจทำให้การเจรจาขอส่วนลดทำได้ค่อนข้างยาก
  7. รีไฟแนนซ์

       เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีลักษณะคล้ายการเปลี่ยนเจ้าหนี้ใหม่ โดยการขอสินเชื่อจากเจ้าหนี้ใหม่ที่มีข้อเสนอดีกว่า มาปิดหนี้จากเจ้าหนี้เดิม ส่วนมากนิยมใช้กับสินเชื่อบ้าน* และสินเชื่อธุรกิจที่มีหลักประกันซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีการที่นิยมใช้กันเป็นอย่างมากในปัจจุบันนี้
  8. การเปลี่ยนประเภทหนี้

       เป็นรูปแบบที่ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยถูกลง อย่างเช่น การปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตมาเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลธรรมดา เพื่อให้ลูกหนี้นำเงินก้อนไปปิดหนี้บัตรเครดิตที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง แล้วมาผ่อนชำระผ่านสินเชื่อส่วนบุคคลแทน


สรุป

    หากสำรวจตัวเองแล้วพบว่าเริ่มมีปัญหา อย่าลังเลที่จะติดต่อธนาคารที่เราเป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนใครที่กำลังจะขอสินเชื่อ อย่าลืมทำความเข้าใจ อัตราดอกเบี้ย และคำนวณดอกเบี้ยที่จะต้องชำระ ไม่ว่าจะเป็นชำระคืนปกติตามกำหนด จ่ายขั้นต่ำ หรือผิดนัดชำระ เพื่อช่วยวางแผนการเงินให้ดียิ่งขึ้น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้