ทำความรู้จักหนี้ดีและหนี้เสียก่อนการยื่นกู้สินเชื่อ

358 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทำความรู้จักหนี้ดีและหนี้เสียก่อนการยื่นกู้สินเชื่อ

ขึ้นชื่อว่า “หนี้” อาจฟังดูน่ากลัวสำหรับใครหลายๆ คน แต่ใช่ว่าการเป็นหนี้จะเป็นเรื่องไม่ดีไปซะทั้งหมด หากเรารู้จักวางแผนและพิจารณาความเหมาะสม หนี้ก้อนนี้อาจจะกลายเป็นหนี้ดีก็เป็นได้ หลายคนอาจเริ่มสงสัยแล้วใช่ไหมครับว่าหนี้ดีคืออะไร? เราไปรู้จักกับความหมายของหนี้ดีกันแบบชัดๆ เลยดีกว่า


หนี้ดีกับหนี้เสียคืออะไร ?


หนี้ดี คืออะไร ?

   หนี้ดี คือ หนี้ที่สร้างประโยชน์และเพิ่มศักยภาพให้กับตัวเรา โดยเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ สร้างความมั่งคั่งให้กับเราในอนาคต สรุปง่ายๆ ก็คือ เป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้มากกว่าดอกเบี้ยในการกู้ยืม ไม่เหมือนกับหนี้เสีย หนี้ที่สร้างรายได้น้อย หรืออาจจะไม่ได้ช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติม ส่วนใหญ่เป็นกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ทั้งนี้ “หนี้ดี” หากใช้ให้ถูกวิธี ก็จะยิ่งช่วยต่อยอดโอกาสทางการเงิน เสริมความมั่งคั่ง โดยทั่วไปหนี้ดียิ่งเป็นมากเท่าไร ก็จะยิ่งช่วยให้เรามีกระแสเงินสดเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

ตัวอย่างของหนี้ดี

  • หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น เงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ เงินกู้ยืมเพื่อธุรกิจ เงินกู้ยืมเพื่อลงทุนหรืออสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ
  • หนี้ที่ก่อให้เกิดความรู้ เช่น การกู้เงินเพื่อเรียนต่อ ซึ่งสามารถนำความรู้มาต่อยอดในการทำงานหาเลี้ยงชีพให้อนาคตได้
  • หนี้ที่อยู่ในระบบ เช่น เงินกู้จากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้เครดิตบูโร เพราะหากชำระหนี้เสร็จสิ้นครบทุกงวดก็จะมีเครดิตทางการเงินที่สามารถใช้ประกอบการขอยื่นกู้ได้อีก

 

หนี้เสีย คืออะไร?

   หนี้ที่สร้างรายได้น้อยหรืออาจจะไม่ได้ช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติม อย่างเช่น การเป็นหนี้เพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า หนี้แบบนี้ถือว่าเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้ โดยสิ่งของที่ใช้จ่ายไปนั้นไม่ได้ช่วยสร้างรายได้ให้กับตัวเรา หรือที่เรามักจะคุ้นกันในชื่อ “หนี้เพื่อการบริโภค” นั่นเอง โดยทั่วไปแล้วหนี้ประเภทนี้มักจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าหนี้สินประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสดหรือหนี้นอกระบบ เป็นต้น


ตัวอย่างของหนี้เสีย 

  • หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น เงินกู้เพื่อไปท่องเที่ยว เงินกู้เพื่อซื้อของฟุ่มเฟือย
    หนี้ที่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ครบตามที่กำหนด ก็จะส่งผลให้เกิดการฟ้องร้อง ยึดทรัพย์ เสียเครดิต ติดบัญชีดำของธนาคาร ทำให้ชื่อเสียงทางการเงินไม่ดี กู้ไม่ผ่านในครั้งต่อไป
  • หนี้ที่อยู่นอกระบบ เช่น เงินกู้จากสถาบันการเงินที่อยู่นอกเครดิตบูโร เพราะต่อให้จ่ายหนี้ครบก็ไม่มีประวัติการชำระหนี้ อีกทั้งยังมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงและหากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงตามกำหนดอาจใช้วิธีการทวงที่รุนแรงอีกด้วย


5  สิ่งที่ควรพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจเป็นหนี้ มีอะไรบ้าง?

   ได้ทำความรู้จักโทษของการมีหนี้เสีย รวมถึงการสร้างหนี้ดีไปแล้ว ต่อไปเราก็ต้องมาดูกันต่อว่า แล้ว 5 สิ่งที่ควรทำก่อนสร้างหนี้มีอะไรบ้าง

  1. ดูความจำเป็นในการก่อหนี้

       ก่อนที่เราจะก่อหนี้ทุกครั้ง จะต้องพิจารณาให้ดีก่อนว่า หนี้ที่กำลังจะก่อนั้น มีความจำเป็นกับชีวิตมากน้อยเพียงใด สิ่งของที่กำลังจะซื้อเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือเป็นแค่ความต้องการ มีกำลังจ่ายและไม่สร้างความลำบากให้ตัวเองในอนาคตหรือไม่ นอกจากนี้หากก่อหนี้ก็ควรจะเลือกก่อหนี้ดีเท่านั้น ควรหลีกเลี่ยง หรือมีหนี้เสียให้น้อยที่สุด
  2. เลือกประเภทของสินเชื่อให้เหมาะสม

       เนื่องจากในปัจจุบันมีสินเชื่อด้วยกันหลายประเภท ดังนั้น ก่อนจะขอสินเชื่อจึงต้องวางแผนให้ดีก่อนว่า จะขอสินเชื่อเพื่อนำเงินไปทำอะไร ต้องการวงเงินเท่าไหร่ และเรามีทรัพย์อะไรเป็นหลักประกันบ้าง นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อด้วยเช่นกัน
  3. เปรียบเทียบเงื่อนไขสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ย

       นอกจากการพิจารณาเลือกสินเชื่อที่เหมาะสมกับความต้องการแล้ว ยังควรพิจารณาและเปรียบเทียบเงื่อนไขสินเชื่อ รวมถึงอัตราดอกเบี้ย และวงเงินของแต่ละธนาคาร เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการเลือกธนาคารที่ให้อัตราดอกเบี้ย วงเงิน และมีเงื่อนไขที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด
  4. ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ และสภาพคล่องทางการเงิน

       ก่อนที่จะก่อหนี้ ควรจะประเมินฐานะการเงินและความพร้อมในการชำระหนี้ให้ดีก่อนว่า เรามีความสามารถในการชำระหนี้ได้มากน้อยเพียงใด ปัจจุบันเรามีภาระค่าใช้จ่ายหรือหนี้สินที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนเท่าไหร่บ้าง เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการคำนวณว่า หากเราก่อหนี้เพิ่ม หนี้ก้อนนี้จะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือไม่ 
  5. ประเมินความมั่นคงของรายได้

       อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องประเมินให้ดีก่อนก่อหนี้ก็คือ การประเมินความมั่นคงของรายได้ รวมถึงความสามารถในการหารายได้ของเรา เพื่อให้เราสามารถผ่อนชำระหนี้ได้จนครบกำหนด และตรงตามเวลา เพราะหากชำระหนี้ไม่ตรงเวลาหรือเกินกำหนด เราก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในทันที เช่น ค่าติดตามทวงถามหนี้

คำแนะนำ วิธีแก้ไขหนี้ทำได้อย่างไร?

   ได้รู้ไปแล้วว่าหนี้ดีคืออะไรและหนี้เสียคืออะไร ดังนั้นหากไม่อยากเกิดความกังวลใจว่าจะสามารถผ่อนชำระหนี้ได้หรือไม่ ควรมีการวางแผนทางการเงินล่วงหน้าอย่างรอบคอบ เพื่อช่วยให้สามารถเคลียร์หนี้ได้ตรงตามระยะเวลาที่กำหนด ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดหนี้สินก้อนโตที่อาจเพิ่มขึ้นจากการไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงตามเวลาอีกด้วย ซึ่งการวางแผนการเงินนั้นมีวิธีการดังต่อไปนี้

  1. กำหนดสัดส่วนค่าใช้จ่าย

       ด้วยการกำหนดสัดส่วนของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนถือได้ว่าเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งที่ช่วยให้สามารถมองเห็นภาพรวมของเงินแต่ละก้อนตามความจำเป็นได้ เช่น ค่ากิน ค่าที่พัก เป็นต้น โดยการเป็นหนี้ที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายคือไม่ควรเป็นหนี้เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้แต่ละเดือน
  2. ไม่สร้างหนี้เพิ่ม

       การสร้างหนี้เพิ่มจะส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ทำให้ต้องผ่อนชำระหนี้มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นควรควบคุมหรือระงับค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง เพื่อนำเงินส่วนนั้นมาชำระหนี้ที่เหลือต่อไป
  3. จัดลำดับการจ่ายหนี้

       การจัดลำดับการจ่ายหนี้ คือการเรียงลำดับความสำคัญของการชำระหนี้เพื่อให้หนี้ครบตามกำหนด โดยที่นิยมทำมีอยู่ 2 ทางเลือก ได้แก่
    • การเลือกชำระก้อนหนี้ที่มียอดคงเหลือน้อยที่สุด เพื่อให้จำนวนก้อนหนี้ที่มีอยู่ลดลง
    • การเลือกชำระก้อนหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุด เป็นการกำจัดก้อนหนี้ที่มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูงเพื่อประหยัดเงินไว้สำหรับหนี้ก้อนอื่นๆ ที่มี
   เมื่อได้ทราบกันไปแล้วว่า หนี้ดี-หนี้เสียคืออะไร รวมถึงโทษของการมีหนี้เสีย เชื่อว่าก็คงจะทำให้หลายๆ คนมีความเข้าใจเรื่องหนี้สินมากขึ้น การเป็นหนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดหากหนี้ที่เราก่อขึ้นมานั้นเป็นหนี้ที่ดี เพราะจะช่วยส่งเสริมเครดิตในการขอยื่นกู้ครั้งถัดไปได้ ดังนั้นหากมีการวางแผนการเงินอย่างละเอียดรอบคอบก่อนยื่นกู้ก็สามารถช่วยระงับปัญหาการผ่อนชำระหนี้ไม่ไหวที่จะเกิดขึ้นมาในภายหลัง รวมถึงอย่าลืมเลือกสินเชื่อว่าประเภทไหนเหมาะสมกับตนเองมากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ยุ่งยากที่จะตามมา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้