ต้องมีหนี้สินเท่าไร? ถึงจะโดนฟ้องว่าเป็นบุคคลล้มละลาย

285 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ต้องเป็นหนี้เท่าไรถึงจะโดนฟ้องล้มละลาย

   ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ จากคนปกติ ที่ดำเนินชีวิตแบบง่าย ๆ ก็อาจตกเป็นบุคคลล้มละลายได้ เพราะการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดต่างๆ ที่ทำให้หลายคนกลายเป็นบุคคลล้มละลายมามากมายแล้ว ทำให้ในตอนนี้สถิติคดีล้มละลายก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และวันนี้เราก็จะมาแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องนี้กันเพื่อไม่ให้เราเสี่ยงที่จะเป็นบุคคลล้มละลายในอนาคต


บุคคลล้มละลายคืออะไร

   บุคคลล้มละลาย คือ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จนศาลพิพากษาสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย
   บุคคลล้มละลายทุจริต คือ กรณีที่บุคคลล้มละลายกระทำการฉ้อฉล หรือมีพฤติการณ์ทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สินของตัวเอง เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามที่ควรจะเป็น เช่น การจำหน่าย โอนย้าย หรือให้ผู้อื่นซ่อนเร้นทรัพย์สินของตัวเองเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ยึด หรืออายัดทรัพย์สินนั้น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือเจ้าหนี้พิสูจน์ได้ว่า มีพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น ศาลอาจพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต


แล้วต้องเป็นหนี้เท่าไรถึงโดนฟ้องล้มละลาย

   ภาระหนี้สินที่อาจนำไปสู่ภาวะล้มละลายได้ มาทำความเข้าใจว่า ต้องเป็นหนี้เท่าไหร่ที่อาจถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องต่อศาลให้เป็นบุคคลล้มละลาย อย่างไรก็ตาม การพิจารณาว่าบุคคลใดจะล้มละลายหรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของศาลที่จะวินิจฉัยจากข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายด้วย

  1. เป็นบุคคลธรรมดา มีหนี้สินมากกว่า 1 ล้านบาท

       สำหรับการฟ้องร้องเพื่อการล้มละลายของบุคคลธรรมดานั้นจะเกิดขึ้นเมื่อ บุคคลนั้นมีภาระหนี้ ในจำนวนที่มากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป อาจทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ครบตามกำหนด ถ้าถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องต่อศาลให้ล้มละลาย และศาลเห็นว่ามีเหตุสมควร ก็อาจมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ทำให้กลายเป็นบุคคลล้มละลาย
  2. เป็นนิติบุคคล มีหนี้สินมากกว่า 2 ล้านบาท

       สำหรับนิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เมื่อมีหนี้สินรวมกันเกิน 2 ล้านบาท อาจถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องต่อศาลให้ล้มละลายได้เช่นกัน เมื่อนิติบุคคลถูกศาลสั่งให้ล้มละลาย จะส่งผลต่อกรรมการ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจถูกเพิกถอนสิทธิ์บางประการได้ เช่น กรรมการอาจถูกตัดสิทธิ์ในการดำรงตำแหน่งกรรมการ หรือผู้บริหารในนิติบุคคลอื่นๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง
  3. เป็นผู้ที่มีแนวโน้มมีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้

       บุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว เช่น ถูกเจ้าหนี้ทวงถามบ่อยครั้ง ถูกฟ้องเรียกชำระหนี้หลายคดี ทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้ หรือผู้ที่มีภาระหนี้สูงเกินกว่ารายได้ และทรัพย์สินที่มีอยู่ จึงไม่มีความสามารถมากพอที่จะผ่อนชำระหนี้ได้ตามปกติ บุคคลที่เข้าลักษณะดังกล่าวนี้ เจ้าหนี้อาจยื่นฟ้องต่อศาลให้ล้มละลายได้ 


การเป็นบุคคลล้มละลายมีผลกระทบต่อชีวิตอย่างไร

   หลายท่านอาจเกิดความสงสัยว่าการตกเป็นบุคคลล้มละลายจะทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งอาจสรุปได้ ดังนี้

  1. จะไม่สามารถทำนิติกรรมอะไรได้ทั้งสิ้น ซึ่งก็รวมถึงธุรกรรมการเงินต่าง ๆ เช่น การเปิดบัญชีธนาคาร, การโอนเงิน, การถอนเงิน เป็นต้น
  2. ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงไม่สามารถรับราชการ หรือถ้ากรณีรับราชการอยู่แล้วก็จะต้องออกจากราชการ หรือกรณีที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนก็จะต้องออกจากงานในกรณีที่บริษัทนั้นกำหนดว่าพนักงานของตนต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
  3. ไม่สามารถดำรงตำแหน่งในบริษัท หากมีความจำเป็นจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อนจึงจะดำรงตำแหน่งได้
  4. ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ หรือหากมีความจำเป็นจริงๆ จะต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อน โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าจะเดินทางไปที่ไหน กี่วัน และบุคคลที่สามารถติดต่อได้ในขณะที่อยู่ต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์


บุคคลล้มละลายต้องใช้หนี้ไหม

   เมื่อถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย ลูกหนี้ยังคงต้องชำระหนี้ให้ครบถ้วน เพียงแต่จะเป็นการชำระตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายกำหนด โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเข้ารวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งหมด เพื่อนำมาแบ่งชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ตามสัดส่วน

ทางแก้ไขให้พ้นจากสภาพการเป็นบุคคลล้มละลาย

   การถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายนั้นจะมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเมื่อครบกำหนดก็จะถูกปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย และภายหลังจากที่มีคำสั่งปลดจากการล้มละลายแล้ว ก็จะสามารถทำงานและทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ อย่างไรก็ดีคำสั่งปลดจากการล้มละลายนี้ จะส่งผลให้บุคคลล้มละลายนั้นหลุดพ้นจากหนี้สินทั้งปวงด้วย ยกเว้นแต่หนี้สินที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร หรือหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการทุจริต ฉ้อโกงของบุคคลล้มละลาย

สรุป วางแผนการเงินให้ดี ก่อนจะตกเป็นบุคคลล้มละลาย

   สำหรับใครที่ผิดพลาด หรืออาจมีความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในเรื่องหนี้สินมาแล้ว ก็ควรหาวิธีในการเจรจาประนอมหนี้ ปัจจุบันมีวิธีการ และมีหลายหน่วยงานที่พร้อมจะเข้ามาช่วยเหลือในการเจรจาประนอมหนี้ เช่น กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ที่มีช่องทาง และวิธีการไกล่เกลี่ยหนี้สินก่อนที่จะถูกฟ้องให้เป็น  บุคคลล้มละลาย และหลังจากนี้ก่อนตัดสินใจเซ็นสัญญากู้ยืมเงินอะไรก็ตาม คิดให้ดีว่าเรามีความพร้อมทางการเงินไหม มีส่วนช่วยไม่ให้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และความเป็นอยู่อย่างมาก การบริหารจัดการหนี้สิน และทรัพย์สินที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อนำไปใช้หมุนเวียน ชำระหนี้สิน หรือนำเงินไปลงทุนสร้างรายได้ ช่วยให้การบริหารจัดการหนี้สินทำได้ง่ายขึ้น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้